เปาบุ้นจิ้น ที่เรารู้จักกันนั้นมีตัวตนอยู่จริง เขาเป็นชนชาติไทสูง(จีนออกสำเนียงเป็น ต้าซ่ง หรือ ต้าซ้อง …สำหรับในยุคปัจจบันจะเรียกว่า ไทซ่่ง) แต่ในยุคที่เมาเซตุงครองอำนาจ ได้แอบอ้างปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลอกประชาชนทั้งหมด ให้หลงเชื่อเผาทำลายโบราณสถาน วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนา รวมทั้งความเป็นชนชาติ โดยอ้างความเท่าเทียม (ซึ่งภายหลังได้ปรากฏชัดว่า ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่มีระบุให้เผาทำลายเอกสารวิชาการ และโบราณสุาน เมาเซตุงแอบอ้างแต่งขึ้นหลอกลวงประชาชน เพื่อให้คนยกย่องนับถือตนเองแทน ทั้งนี้เพราะเมาเซตุง เป็นชาวตง หรือ ชาวสงหนู ซึ่งอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้านอกกำแพงใหญ่ เมาเซตุงได้สั่งเผาทำลายตำราประวัติศาสตร์ทั้งหมด และให้เขียนขึ้นมาใหม่ จนปัจจุบันแทบจะไม่อาจสืบค้นต้นตอ หรือ จารึกของเดิมได้ ยังดีที่ว่าชาวตะวันตกที่เข้ามาเช่าพื้นที่ ได้กว้านซื้อ โบราณวัตถุ และเอกสารไว้จำนวนมาก จึงทำให้สามารถนำมาเทียบเคียงกับที่เมาเซตุงให้เขียนขึ้นใหม่สำหรับเรียนในสถานศึกษา นั้นไม่ตรงตามเอกสารประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยนักปรารชญ์ในยุคโบราณ ชนิดขาวเป็นดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวของราชวงศ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ก่อนครั้งประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นผลงาน และวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม การปกครองของชนชาติไททั้งสิ้น

เปาบุ้นจิ้น มีนามจริงว่า เปา เจิ่ง เกิดในครอบครัวบัณฑิตแห่งหลูโจว (廬州) ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นกลาง แม้บิดามารดาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก่อนเขาจะเกิด มารดาของเขาต้องสะสมทุนรอนด้วยการขึ้นเขาไปเก็บฟืนมาขายอยู่พักใหญ่ เนื่องจากเปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่างซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี

ในด้านครอบครัว เปา เจิ่ง มีภริยาสามคน คือ นางจาง (張氏), นางต่ง (董氏), และนางซุน (孙氏)
เปา เจิ่ง มีบุตรสามคนกับนางต่ง เป็นบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา อี้ (包繶) เกิดใน ค.ศ. 1033 และบุตรสาวสองคน
เปา อี้ สมรสกับนางชุย (崔氏) ในราว ค.ศ. 1051 ต่อมาใน ค.ศ. 1053 เปา อี้ เสียชีวิตขณะรับราชการ เปา อี้ มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา เหวินฝู่ (包文辅) ซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ห้าปี

เมื่อสาวใช้ในบ้านนามว่า นางซุน ตั้งครรภ์ขึ้น เปา เจิ่ง ก็ให้นางกลับบ้านเกิดโดยที่ไม่ทราบว่า บุตรในครรภ์ของนางคือบุตรของเปา เจิ่ง เอง แต่นางชุย ภริยาของเปา อี้ ทราบความทั้งหมด และแอบส่งเสียเลี้ยงดูนางซุนมาตลอด ครั้น ค.ศ. 1057 นางซุนให้กำเนิดบุตรชายชื่อ เปา หยาน (包綖) นางชุยก็พานางซุนและลูกมาอยู่ที่บ้านตนแล้วอุปการะอย่างดี ต่อมาใน ค.ศ. 1058 นางชุยพานางซุนและเปา หยาน กลับคืนตระกูลเปา ทำให้เปา เจิ่ง ดีใจที่เชื้อสายยังไม่สิ้นสูญ จึงเปลี่ยนชื่อให้เปา หยาน เป็น เปา โช่ว (包綬)

พงศาวดารหลวงยกย่องนางชุย บุตรสะใภ้ของเปา เจิ่ง เป็นอย่างยิ่งที่รู้จักพิทักษ์เลือดเนื้อเชื้อไขของวงศ์ตระกูล เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของเรื่องราวในวรรณกรรมที่ว่า เปา เจิ่ง นั้นบิดามารดาจงเกลียดจงชังมาตั้งแต่เด็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ ผู้ซึ่งเขาเรียกขานว่า “แม่สะใภ้” (嫂娘)

ประวัติการรับราชการ

ในปี ค.ศ. 1028 อายุได้ 29 ปี เปา เจิ่ง สอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ (進士) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเทศมณฑลจิ้นชาง (建昌县) แต่เขาขอผัดออกไปก่อน เพื่อกลับบ้านเกิดไปดูแลบิดามารดาผู้ชรา

เวลานั้น หลิว ยฺวิน (刘赟) ผู้ว่าการหลูโจวซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นกวีเอกและขุนนางใจซื่อมือสะอาด แวะเวียนมาหาเขาเป็นประจำ ทั้งสองถูกคอกัน และเปา เจิ่ง ได้รับอิทธิพลเรื่องการมีใจกรุณาต่อราษฎรมาจากหลิว ยฺวิน

ผู้ว่าการเทียนฉาง
เมื่อบิดามารดาของเปาเจิง ได้เสียชีวิตใน ค.ศ. 1038 และปลงศพตามประเพณีแล้ว เปา เจิ่ง กลับมารับใช้แผ่นดิน เริ่มแรกเขาได้เป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง (天长市) ซึ่งไม่ไกลจากหลูโจวบ้านเกิด มีบันทึกว่า ครั้งนั้น ชาวนาผู้หนึ่งมาร้องทุกข์ว่า วัวของตนถูกลอบตัดลิ้น เปา เจิ่ง จึงสั่งให้เขากลับบ้านไปฆ่าวัวนั้นทิ้งเสีย แต่อย่าแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ตามกฎหมายสมัยนั้น การฆ่าปศุสัตว์เป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ชาวนาผู้นั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็กลับไปฆ่าวัวตามคำสั่ง วันต่อมา ชายอีกผู้หนึ่งมาฟ้องว่า ชาวนาข้างบ้านลอบฆ่าวัว เปา เจิ่ง ตบโต๊ะตวาดว่า ลักลอบตัดลิ้นวัวเขาแล้วยังมาฟ้องกล่าวหาเขาอีก ชายผู้นั้นตกใจที่เปา เจิ่ง ล่วงรู้ความจริง ก็รับสารภาพว่า ตนผิดใจกับชาวนามาแต่เดิมแล้ว จึงกลั่นแกล้งตัดลิ้นวัวเขา เขาจะได้จำใจฆ่าวัวนั้นทิ้ง และจะได้มีความผิดฐานฆ่าปศุสัตว์

ผู้ว่าการตฺวันโจว
ใน ค.ศ. 1040 เปา เจิ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตฺวันโจว (端州) ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านผลิตจานฝนหมึก เปา เจิ่ง ตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีดจานฝนหมึกจำนวนมากจากราษฎร เมื่อทำราชการอยู่ที่นี่ เปา เจิ่ง จึงใช้จานฝนหมึกเพียงอันเดียว โดยกล่าวว่า ความจำเป็นมีเท่านั้น ครั้น ค.ศ. 1043 เขาต้องย้ายไปท้องที่อื่น ประชาชนรักใคร่ก็นำจานฝนหมึกมามอบให้เป็นของขวัญมากมาย เปา เจิ่ง ไม่รับไว้เลย และโยนจานฝนหมึกที่ใช้ประจำอยู่นั้นทิ้งลงสู่แม่น้ำกวางตุ้ง ไม่ยอมพกไปด้วยแม้แต่อันเดียว

ผู้ตรวจกำกับ

ใน ค.ศ. 1044 เปา เจิ่ง ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง (開封) เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ (監察御史) ภายในสองปีนับจากนี้ เขาได้ถวายฎีกาอย่างน้อย 13 ฉบับว่าด้วยการทหาร ภาษีอากร การสอบขุนนาง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ ใน ค.ศ. 1045 เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังราชวงศ์เหลียว (遼朝) มีบันทึกว่า ขณะเข้าเฝ้ากษัตริย์เหลียว ขุนนางเหลียวทูลฟ้องว่า ซ่งละเมิดสัญญาสันติภาพด้วยการแอบสร้างประตูบานหนึ่งไว้ที่กำแพงชายแดนเพื่อให้ชาวเหลียวแปรพักตร์เข้ามาแจ้งข่าวกรอง เปา เจิ่ง จึงถามว่า เหตุใดประตูจึงจำเป็นต่อการหาข่าวกรอง แต่ขุนนางเหลียวตอบไม่ได้

ระหว่างที่เปา เจิ่ง ทำราชการอยู่ในราชสำนักไคเฟิงนั้น จักรพรรดิเหรินจง (仁宗) ประสงค์จะตั้งพระชายาจากสกุลจาง (张) ขึ้นเป็นมเหสี แต่พระพันปีหลิว (刘太后) พระราชมารดา คัดค้าน กระนั้น จักรพรรดิก็ทรงอวยยศให้แก่จาง เหยาจั่ว (張堯佐) ลุงของพระชายาจาง อย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนจากขุนนางชั้นล่างขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1050 เปา เจิ่ง และผู้ตรวจกำกับอีกสองคน จึงร่วมกันถวายฎีกากล่าวโทษจาง เหยาจั่ว แต่จักรพรรดิทรงเมินเฉย และสี่วันให้หลังยังประทานยศให้แก่น้องสาวของพระชายาจาง เปา เจิ่ง ไม่ลดละความพยายาม เขาถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งแต่ผู้เดียว พรรณนาถึงความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ แต่จักรพรรดิกลับให้จาง เหยาจั่ว ควบอีกสี่ตำแหน่ง เปา เจิ่ง จึงถวายฎีกาอีกฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1050 ว่า ถ้าทรงขืนจะตั้งจาง เหยาจั่ว ให้ได้ ไม่รับฟังคำปรึกษาที่ถวายแล้ว ก็ขอให้ถอดที่ปรึกษาผู้นี้ออกจากตำแหน่งเสียเถิด ในการประชุมคราวถัดมาในท้องพระโรง เปา เจิ่ง และเสนาบดีอีกเจ็ดคน ยังเปิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ทำให้จักรพรรดิทรงยอมถอดจาง เหยาจั่ว ออกจากตำแหน่งในที่สุด

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ เปา เจิ่ง ได้ลงโทษลดขั้นและไล่ออกแก่ขุนนางผู้ใหญ่ 30 คน ฐานทุจริต รับสินบน และละเลยหน้าที่ เปา เจิ่ง ยังประสบความสำเร็จในการทูลคัดค้านเสมอ ๆ ผิดกับบุคคลอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษสถานหนักเพราะทูลคัดค้านแม้ในเรื่องเล็กน้อย

ใน ค.ศ. 1057 เปา เจิ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการนครหลวงไคเฟิง ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า เปี้ยนเหลียง (汴梁)
เปา เจิ่ง เป็นผู้ว่าการไคเฟิงจนถึง ค.ศ. 1058 ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปีแห่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เปา เจิ่ง ได้ปฏิรูปการปกครองหลายประการเพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงผู้ว่าการได้โดยตรง ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก

แต่ชีวิตการทำงานของเขาหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการไคเฟิงแล้วกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง เป็นต้นว่า เมื่อเขาปลดจาง ฟางผิง (張方平) ซึ่งควบสามตำแหน่งสำคัญ เขากลับได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านั้นแทน โอวหยาง ซิว (欧阳修) จึงถวายฎีกาประณามเขาอย่างรุนแรง

ตำแหน่งอื่น ๆ

หลังจากนั้น เปา เจิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง โดยมากเกี่ยวข้องกับการคลัง เขายังได้เป็นเสนาบดีคลังอยู่ช่วงหนึ่ง ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงในวงราชการ เปา เจิ่ง กลับใช้ชีวิตเรียบง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ เขายังมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต กับทั้งอุปนิสัยที่เข้มงวดกวดขัน และไม่อดทนหรือรอมชอมต่อความอยุติธรรมและการฉ้อฉล บุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ก็เป็นที่ขึ้นชื่อเช่นกัน มีบันทึกว่า เปา เจิ่ง วางตัวเคร่งครัดเคร่งขรึม ถึงขนาดพูดกันทั่วไปว่า รอยยิ้มของเขาหาดูยากยิ่งกว่าฮวงโหกลายเป็นสีใสสะอาด

กิตติศัพท์เกี่ยวกับความเที่ยงตรงของเปา เจิ่ง นั้นเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ชื่อเขาจึงกลายเป็นไวพจน์ของคำว่า “ตงฉิน” (忠臣) ขณะที่ตัวเขาเองก็กลายเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในวรรณกรรมและอุปรากรอย่างรวดเร็ว พลเมืองมักเล่าขานว่า เปา เจิ่ง นั้นกลางวันรับราชการอยู่บนโลกมนุษย์ กลางคืนไปรับราชการเป็นยมราชอยู่ในนรกภูมิ พูดกันติดปากว่า เช้าชำระคดีคน ค่ำชำระคดีผี

การอสัญกรรม
เปา เจิ่ง ถึงแก่อสัญกรรมที่ไคเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1062 จักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า “เซี่ยวซู่” (孝肅) แปลว่า กตัญญูปูชนีย์
ก่อนเสียชีวิต เปา เจิ่ง สั่งเสียไว้ว่า “ลูกหลานเราคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาตรคาดสินบน ห้ามกลับคืนมายังบ้านเราและห้ามเผาผีร่วมสกุลกันอีก ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างเรา เราไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน”

มีการเขียนยกย่องเปาบุ้นจิ้นไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์จีนว่า “เป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง และกดขี่ขูดรีดประชาชน แม้จะเกลียดคนเลว แต่ท่านก็มิใช่เป็นคนดุร้าย ท่านเป็นคนซื่อสัตย์และให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนา ท่านไม่เคยคบคนง่ายๆ อย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งทำหน้าชื่นและป้อนคำหวานเพื่อเอาใจคน ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน จึงไม่มีฝักไม่มีฝ่าย แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง เสื้อผ้า เครื่องใช้ และอาหารการกินก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งยังเป็นคนสามัญธรรมดาเลย”

ความยุติธรรมของท่านเปา มิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในหมู่ของชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี ขุนนางชั้นผู้น้อย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งญาติฝ่ายสนมองค์โปรดขององค์ฮ่องเต้ หรือจะกล่าวง่ายๆ ก็คือในสายตาของท่านเปา ความยุติธรรมไม่มีการแบ่งชนชั้น

ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน เปาบุ้นจิ้นเป็นนักการเมืองที่มีวิทยาคุณและมีความมุ่งมาดปรารถนาอันแรงกล้า เป็นนักการปฏิรูปและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ในทัศนะของชาวบ้าน เขาเป็น “ข้าราชการมือสะอาดหมายเลขหนึ่งในใต้หล้า” มากกว่า นี่เป็นเพราะว่า ผู้ปกครองในสมัยราชวงศ์เป่ยซ่งนั้นไร้ความปรีชาสามารถ มาตรการปฏิรูปที่เปาบุ้นจิ้นเป็นผู้เสนอนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เลย ฉะนั้น ความสามารถของเปาบุ้นจิ้นส่วนใหญ่จะแสดงออกในด้านสติภูมิปัญญา ความเที่ยงธรรมและความเฉียบขาดในการตัดสินคดีมากกว่า

By admin