ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ มีคำตัดสินเมื่อ 5 ส.ค.2024 ว่า กูเกิล (Google) ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อต่อต้านการแข่งขันและปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ จนทำให้กูเกิลกลายเป็นบริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตค่าเริ่มต้น (default) ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก
.
คำพิพากษาครั้งนี้นับว่าสะเทือนวงการอินเทอร์เน็ต และก่อมรสุมทางกฎหมายครั้งสำคัญต่อกูเกิลซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่ผู้คนรู้จักมากที่สุด
.
จากการพิจารณาหลักฐานต่างๆ รวมถึงคำให้การของผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ไมโครซอฟต์ และแอปเปิล ระหว่างการไต่สวนในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา อามิต เมห์ตา ได้ออกคำตัดสินความยาว 227 หน้ากระดาษที่มีใจความระบุว่า “หลังจากที่ได้พิจารณาและชั่งน้ำหนักคำให้การและหลักฐานต่างๆ อย่างรอบคอบ ศาลได้ข้อสรุปว่า กูเกิลเป็นธุรกิจผูกขาด และได้กระทำการต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งการผูกขาดตลาด”
.
เมห์ตา ย้ำว่า การที่กูเกิลคงความเป็นเจ้าตลาดเสิร์ชเอนจินก็คือหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมผูกขาด
.
“กูเกิล ครองส่วนแบ่งตลาดบริการค้นหาข้อมูลทั่วไปถึง 89.2% และสูงถึง 94.9% บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile devices)” คำพิพากษาระบุ
.
คำตัดสินนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางกฎหมายครั้งสำคัญของกูเกิลและ อัลฟาเบต อิงค์ (Alphabet Inc) ซึ่งพยายามอ้างมาโดยตลอดว่า ความนิยมของกูเกิลเกิดจากความปรารถนาของผู้บริโภคเองที่ต้องการใช้งานเสิร์ชเอนจินที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมและตอบโจทย์ จนทำ “กูเกิล” กลายเป็นคำที่สื่อความหมายถึงการเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ที่ทุกคนเข้าใจกัน
.
ปัจจุบันเสิร์ชเอนจินของ กูเกิล มีการประมวลผลคำร้องขอ (query) จากทั่วโลกประมาณ 8,500 ล้านครั้งต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่าจากระดับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตามผลการศึกษาของบริษัทด้านการลงทุน BOND เมื่อไม่นานมานี้
.
เคนต์ วอล์กเกอร์ ประธานฝ่ายกิจการสากลของกูเกิล ระบุว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของ เมห์ตา
.
“คำพิพากษานี้ถือเป็นการยอมรับว่ากูเกิลคือบริการเสิร์ชเอนจินที่ดีที่สุด แต่กลับสรุปว่าเราไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นโดยง่าย” วอล์กเกอร์ กล่าว
.
คำตัดสินของศาลยังถือเป็นชัยชนะสำหรับหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ซึ่งได้ยื่นฟ้องกูเกิลเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วในสมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี และยังคงเดินหน้าติดตามตรวจสอบพวกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เรื่อยมา จนกระทั่งถึงยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน
.
เมอร์ริค การ์แลนด์ อัยการสูงสุดสหรัฐฯ ระบุว่า “ชัยชนะเหนือ กูเกิล ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับชาวอเมริกัน ไม่มีบริษัทไหน – ต่อให้ใหญ่โตหรือมีอิทธิพลเพียงใด — ที่จะอยู่เหนือกฎหมายได้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะยังคงมุ่งมั่นบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของเราต่อไป”
.
คดีนี้ทำให้กูเกิลถูกมองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีจอมบูลลี่ที่ใช้กลยุทธ์กำจัดคู่แข่ง และปกป้องเสิร์ชเอนจินของตัวเองจนกลายเป็นศูนย์กลางของโฆษณาดิจิทัลที่สร้างเม็ดเงินรายได้เกือบ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว
.
ทนายความของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ชี้ว่า การผูกขาดเช่นนี้ทำให้กูเกิลสามารถเรียกเก็บค่าโฆษณาในราคาสูงเกินจริง โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินหรือเวลาเพื่อพัฒนาเสิร์ชเอนจินของตัวเองให้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งการดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์
.
CR: AP

By admin